พื้นที่ ราชบุรี
โครงการ “การพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนเชิงสร้างสรรค์ บนฐานทุนทางวัฒนธรรมชุมชน : ระยะที่ 2”
Development of Creative Cultural Community Based Products : Phase 2
ทุนอุดหนุนการวิจัยประจำปี 2565 สำนักงานวิจัยแห่งชาติ (วช.) ดำเนินโครงการโดย มหาวิทยาลัยศิลปากร
จังหวัดราชบุรีมีชื่ออันเป็นมงคลยิ่งหมายถึง “เมืองพระราชา” เป็นเมืองเก่าแก่เมืองหนึ่งของประเทศไทย จากการศึกษาและขุดค้น ของนักประวัติศาสตร์นักโบราณคดีพบว่าดินแดนแถบลุ่มแม่น้ำแม่กลองแห่งนี้เป็นถิ่นฐานที่อยู่อาศัยของคนหลายยุคหลายสมัย และ มีความรุ่งเรืองมาตั้งแต่อดีต จากหลักฐานทางโบราณสถานและ โบราณวัตถุจํานวนมาก ทําให้เชื่อได้ว่ามีผู้คนตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณนี้ ตั้งแต่ยุคหินกลาง ตลอดจนได้ค้นพบเมืองโบราณสมัยทวารวดีที่ ตําบลคูบัว อําเภอเมืองราชบุรี จากตำนานและหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ทำให้สันนิษฐานได้ว่า ราชบุรีเป็นหัวเมืองที่เจริญรุ่งเรืองมากแห่งหนึ่งของแคว้นสุวรรณภูมิมาตั้งแต่สมัยที่พระเจ้าอโศกมหาราชแห่งอินเดียได้เผยแพร่พุทธศาสนาเข้ามาในดินแดนแถบนี้ เมื่อราวปี พ.ศ. 218 โดยแคว้นสุวรรณภูมินี้มีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่นครปฐมหรือที่สมัยนั้นเรียกกันว่า "ทวารวดี” ราชบุรียังเป็นแหล่งพบปะของพ่อค้าวาณิชแต่ครั้งโบราณ ทั้งยังเป็นเมืองหน้าด่านที่ติดต่อกับพม่า ราชบุรีจึงเป็นดินแดนที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ที่สุดแห่งหนึ่ง
หลักฐานทางโบราณคดีหลายแห่งที่แสดงถึงลักษณะวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรี ทวารวดี เช่น พระพุทธรูปนั่ง ห้อยพระบาท ที่ถ้ำฤาษีเขางู ตำบลเกาะพลับพลา อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี นอกจากนี้ยังพบว่าเมืองราชบุรีเป็นเมืองที่ได้รับวัฒนธรรมเขมร โดยมีวัดมหาธาตุ เป็นศูนย์กลางของเมือง โดยมีหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญ คือ พระปรางค์วัดมหาธาตุ ซึ่งรูปแบบพระปรางค์องค์เดิมน่าจะมีลักษณะเป็นแบบปราสาทเขมรคล้ายคลึงกับพระปรางค์สามยอด จังหวัดลพบุรี
ราชบุรีมีพัฒนาการทางสังคมและประวัติศาสตร์อย่างต่อเนื่องตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์สุโขทัย อยุธยา ธนบุรี รัตนโกสินทร์ตอนต้น จนถึง พ.ศ. 2437 มีความสำคัญในด้านการเป็นเมืองที่พระมหากษัตริย์ทรงเลือกให้เป็นที่ตัง้ ถิ่นฐานของกลุ่มชนที่อพยพมาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารและกลุ่มชนที่เป็นเชลยสงคราม ก่อให้เกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรม ทำให้เกิดวัฒนธรรมที่หลากหลายมีการพัฒนาและอนุรักษ์วัฒนธรรมของกลุ่มชนตน ปัจจุบันมีกลุ่มชนถึง 8 กลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดราชบุรี ได้แก่ มอญ กะเหรี่ยง ลาวเวียง ลาวโซ่ง ไท-ยวน จีน ไทยพื้นถิ่น เขมรลาวเดิม กลุ่มชนเหล่านี้อพยพมาพร้อมกับวัฒนธรรม ประเพณีและความเชื่อดั้งเดิมตามอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมการแต่งกาย ที่อยู่อาศัย ภาษาพูด การละเล่น ตลอดจนภูมิปัญญาในการดํารงชีวิต หากแต่เมื่อมาเป็นคนพลัดถิ่น ในสังคมต่างวัฒนธรรม กลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้จึงอยู่ในกลุ่มของวัฒนธรรมย่อยภายในวัฒนธรรมหลักของสังคมไทย ที่มีสภาพแวดล้อม ปัจจัยการผลิต การเมือง การปกครอง และวิถีทางวัฒนธรรมที่แตกต่างไปจากเดิม ที่อาจส่งผลต่อการรักษารากฐานทางวัฒนธรรมของแต่ละชาติพันธุ์ให้คงอยู่ แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่มชาติพันธุ์มีการปรับวัฒนธรรมของตนให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมหลักในแผ่นดินใหม่ มีทั้งการรับวัฒนธรรมใหม่ และปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมบางอย่างเพื่อให้เข้ากับบริบทพื้นที่ก่อเกิดการผสมกลมกลืนระหว่างวัฒนธรรม ผนวกกับ โลกในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆไปอย่างรวดเร็ว กระบวนการโลกาภิวัตน์ และการสื่อสารของมนุษย์ เข้ามามีบทบาทเชื่อมร้อยถักทอผู้คนในสังคมท้องถิ่นต่างๆ ทั่วโลกเข้าไว้ด้วยกัน ผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่ อาทิการสื่อสารผ่านดาวเทียม หรืออินเตอร์เน็ต ซึ่งทําให้ข่าวสารจากมุมหนึ่งของโลกผ่านไปยังอีกมุมหนึ่งของโลกด้วยเวลาอันรวดเร็ว จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้นนี้เองที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านประเพณีและวัฒนธรรมของผู้คนในสังคม รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในจังหวัดราชบุรีด้วย
ด้วยประวัติศาสตร์ เรื่องราวความเป็นมา ตลอดจนเชื้อชาติที่หลากหลาย ร่วมกันเกิดเป็นบริบทของชุมชนแบบพหุวัฒนธรรมและพื้นที่ทางวัฒนธรรมในจังหวัดราชบุรี ได้หล่อหลอมให้เกิดทุนวัฒนธรรมที่หลากหลาย เป็นอัตลักษณ์ของพื้นที่ ซึ่งผู้ประกอบการสามารถนำทุนวัฒนธรรม มาพัฒนาให้เกิดเป็นสินค้า/บริการ ที่มีจุดเด่นของตนเอง จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและความยั่งยืนให้การประกอบการได้เป็นอย่างดี